การจัดทำประมาณการทางการเงิน

(Financial Projection)

เพื่อประเมินสถานะการเงินและมูลค่าของบริษัท ช่วยให้ผู้บริหารของบริษัทเห็นรายการที่สำคัญในงบการเงิน สมมติฐานและปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัท

วัตถุประสงค์หลักของการบริหารการเงินของบริษัทจดทะเบียน คือ การสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น ที่สะท้อนผ่านผลประกอบการ และมูลค่าของบริษัท โดยการจัดทำประมาณการทางการเงิน (Financial Projection) จะช่วยให้ผู้บริหารของบริษัทเห็นรายการที่สำคัญในงบการเงิน สมมติฐานและปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัท เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ ตัดสินใจลงทุนเพื่อให้ผลการดำเนินงานและมูลค่าของบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน

ขั้นตอนที่ 1

การรวบรวมข้อมูลทางการเงิน (Preparing Past Financial Statement)

งบการเงินเป็นภาพสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น ในการคาดการณ์ผลประกอบการของกิจการในอนาคตนั้น ต้องอาศัยข้อมูลรายการต่างๆ จากงบการเงินย้อนหลังของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลประกอบการในอดีต และใช้ในการกำหนดแนวโน้มการเติบโตของกิจการในอนาคต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถหาได้จาก รายงานประจำปีของกิจการหรือแบบรายงาน 56-1 ที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ

ขั้นตอนที่ 2

การกำหนดสมมติฐานการดำเนินงาน (Building up Assumptions)

การกำหนดสมมติฐานการเติบโตของปัจจัยสำคัญในงบการเงินที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสด และฐานะการเงินของกิจการในอนาคตโดยเริ่มต้นที่การกำหนดอัตราการเติบโตของยอดขายในอนาคต โดยอาจกำหนดเป็นการเติบโตของยอดขายเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) รวมถึงกำหนดต้นทุนการขายสินค้า รายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน งบประมาณลงทุน ไปตามลำดับ

ขั้นตอนที่ 3

การประมาณการเติบโตยอดขายในอนาคต (Forecast Sale Growth)

ยอดขายถือเป็นตัวแปรสำคัญในการประมาณการทางการเงิน เนื่องจากมูลค่าสินค้า และบริการที่กิจการจะขายได้ในอนาคตมีความสัมพันธ์กับ ต้นทุนวัตถุดิบ ระดับสินค้าคงเหลือ รายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อกำไรของบริษัท รวมถึงการวางแผนจัดหาเงิน และการลงทุนของกิจการในอนาคต โดยทั่วไปวิธีการประมาณยอดขายแบ่งได้ 2 วิธีดังนี้

Bottom Up Method เป็นวิธีการพยากรณ์ที่อาศัยความเห็นของฝ่ายบริหารหรือพนักงานขายที่ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ และใกล้ชิดกับการดำเนินงานของกิจการ เป็นผู้คาดการณ์ยอดขายในอนาคต และนำข้อมูลที่ได้รับมาพิจารณาถึงศักยภาพ และแผนการลงทุนในอนาคตของกิจการ

Top-Down Method วิธีนี้เป็นการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเติบโตของยอดขายในอดีตกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรมหรืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP)

ขั้นตอนที่ 4

ประมาณการต้นทุนขาย (Cost of goods sold)

ต้นทุนขาย หมายถึง ต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทำให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมจำหน่าย เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง เป็นต้น ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ถือว่ามีความสัมพันธ์กับยอดขาย กล่าวคือถ้ากิจการต้องการเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ต้นทุนขายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปกติแล้วจึงสามารถนำตัวเลขการเติบโตของยอดขายในแต่ละปี มาใช้ประมาณการเป็นต้นทุนขายที่จะเพิ่มขึ้นได้ โดยวัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้ต้องการหาว่า จากยอดขายหรือรายได้ที่กิจการสร้างมานั้น เมื่อหักออกด้วยต้นทุนขายแล้วจะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น (Gross Profit) จำนวนเท่าใด เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการหารายได้และการควบคุมต้นทุนของกิจการ

ขั้นตอนที่ 5

ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses Budget)

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานซึ่งประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย และค่าเช่าอาคารสถานที่ เป็นต้น ซึ่งรายการทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีผลกระทบต่อกำไรของกิจการทั้งสิ้น ดังนั้น ในการประมาณการค่าใช้จ่ายจึงต้องสอดคล้องกับแผนการขยายกิจการในอนาคต ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไปหักออกจากกำไรขั้นต้น เราก็จะได้กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคาหรือ EBITDA

ขั้นตอนที่ 6

การจัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Budgeted Statement of Income)

ขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมรายการที่ได้ทำประมาณการทางการเงินไว้บันทึกลงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการในแต่ละรอบปี โดยมีหลักการบันทึกบัญชีจำแนกได้ 2 วิธี ดังนี้

งบกำไรขาดทุนแบบชั้นเดียว เป็นการบันทึกรายการที่แยกแสดงรายได้และค่าใช้จ่าย แล้วจึงนำรายได้ทั้งหมดหักด้วยค่าใช้จ่ายรวมเพื่อแสดงเป็นกำไรหรือขาดทุนสุทธิ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย แต่ข้อเสียคือการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรทำได้เพียงดูจากกำไรสุทธิ ไม่สามารถดูความสามารถในการทำกำไรด้านอื่นของกิจการได้

งบกำไรขาดทุนแบบหลายชั้น เป็นการบันทึกรายได้จากการขายหักด้วยค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทตามลำดับขั้น ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาจากกำไรในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ กำไรขั้นต้น กำไรจากการดำเนินงาน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา ทั้งนี้กำไรข้างต้นเป็นเพียงกำไรจากการดำเนินงานเท่านั้น ในการหากำไรสุทธิที่อยู่ในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนั้น ต้องรวมรายการอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจ่าย

ขั้นตอนที่ 7

การประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures Budget)

CAPEX หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์มาเพื่อใช้ในการดำเนินงานของบริษัท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ใหม่ (New Investment CAPEX) เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร เครื่องจักรใหม่เพื่อรองรับปริมาณการผลิตและการขยายตัวของกิจการในอนาคต ส่วนที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้สินทรัพย์เก่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ (Maintenance CAPEX) เช่น การซ่อมแซมปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร ส่วนสุดท้ายคือ Replacement CAPEX คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ใหม่เพื่อทดแทนสินทรัพย์เก่าที่มีอายุการใช้งานแน่นอน ซึ่งข้อมูล CAPEX เหล่านี้ผู้วิเคราะห์สามารถหาได้จากงบกระแสเงินสดจากการลงทุนของกิจการ หรือจากข้อมูลแผนการลงทุนในอนาคตของกิจการ ทั้งนี้เมื่อกิจการมีค่าใช้จ่ายการลงทุนเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดค่าเสื่อมราคาตามมา โดยวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาอย่างง่ายที่นิยมใช้กันคือ การคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง

ตัวอย่างเช่น กิจการซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 60,000 บาท อายุการใช้งาน 5 ปี มีมูลค่าซาก 10,000 บาท

ค่าเสื่อมราคาต่อปีแบบเส้นตรง = (ราคาทุนของสินทรัพย์ – ราคาซาก) / อายุการใช้งาน

ค่าเสื่อมราคาต่อปีแบบเส้นตรง = (60,000 – 10,000) / 5 = 10,000 บาทต่อปี

โดยค่าเสื่อมราคาถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses) ที่ยิ่งมีค่าสูงยิ่งทำให้กำไรสุทธิลดลง

ขั้นตอนที่ 8

การประมาณการเงินสดของกิจการ (Cash Budget)

ในวงการธุรกิจคำว่า “Cash is King” ในยามเศรษฐกิจซบเซา กิจการส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินสดมาใช้ในการดำเนินงาน หรือนำมาชำระหนี้เพื่อไม่ให้กิจการล้มละลาย และในยามที่ธุรกิจซบเซาคู่แข่งต้องปิดตัวลง กิจการที่มีเงินสดจำนวนมากจะมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่า และสามารถพลิกกลับมาแข็งแกร่งได้เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการประมาณการเงินสด จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ในขั้นตอนนี้ผู้วิเคราะห์จะต้องสรุปรายการรับและจ่ายเงินสดที่เกิดขึ้นในรอบปี เพื่อดูว่ากิจการมีเงินสดคงเหลือเพียงพอในการดำเนินกิจการและมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินสดเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด หากกิจการไม่มีโครงการลงทุนที่มูลค่าเกินกว่าเงินสดที่มีก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 9

การประมาณกำไรสะสม (Retained Earnings Budget)

ขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของกิจการ ซึ่งการที่กิจการจะสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียน และแผนการขยายธุรกิจในอนาคต ที่สำคัญการจ่ายปันผลนั้นบริษัทจะต้องมีเงินสดและกำไรสะสมเพียงพอ ประเด็นสำคัญที่ผู้วิเคราะห์ต้องพิจารณาคือ กิจการจะสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลที่ต่อเนื่องไว้ได้หรือไม่ โดยดูจากกำไรสุทธิของกิจการต้องมีความสม่ำเสมอไม่ผันผวน กิจการมีระดับหนี้สินต่อทุนต่ำ มีกำไรสะสมอยู่มาก และมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจการที่มีเงินสดอยู่น้อยหรือต้องการเก็บเงินสดไว้ลงทุนโครงการในอนาคต สามารถเลือกจ่ายปันผลในรูปแบบอื่นได้ เช่น การจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ หรือการแตกหุ้น เป็นต้น

นอกจากรายการต่างๆ ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น บทความตอนต่อไปจะขอนำเสนอการจัดทำงบแสดงฐานะการเงิน งบกระแสเงินสด และการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การประเมินมูลค่าหุ้นต่อไป

ขั้นตอนที่ 10

การวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงิน (Statement of Financial Position)

ในชื่อเดิม เรียกว่า งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบที่แสดงสถานะสินทรัพย์ (Asset) หนี้สิน (Liabilities) และส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Equity) ณ วันสิ้นงวด ในขั้นตอนนี้เป็นการจัดทำตัวเลขแต่ละรายการให้เป็นอัตราร้อยละเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงรายการที่มีความสำคัญและมีสัดส่วนต่องบการเงินมากที่สุด โดยเรียกวิธีการนี้ว่าการวิเคราะห์ย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common-Size)

ขั้นตอนที่ 11

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)

เป็นงบการเงินที่แสดงการเปลี่ยนแปลงเงินสดของกิจการในช่วงเวลารอบปีบัญชี ที่แสดงถึงการได้มาและใช้ไปของเงินสดผ่าน 3 กิจกรรมหลักคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ซึ่งตัวเลขทางบัญชีในงบกระแสเงินสดที่ผู้วิเคราะห์ต้องให้ความสำคัญคือ “กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)” โดยทั่วไปสามารถคำนวณได้จากการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ลบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital expenditure : CAPEX) และเงินปันผลจ่ายให้ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้กระแสเงินสดอิสระของกิจการถือเป็นตัวแปรสำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นสามัญด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow Model) ซึ่งมูลค่าหุ้นจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดทั้งหมดที่กิจการสามารถสร้างขึ้น ดังนั้นการวิเคราะห์ในขั้นตอนนี้จะทำให้สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตซึ่งเป็นตัวสะท้อนผลการดำเนินงานของกิจการได้นั่นเอง

ขั้นตอนที่ 12

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Building up Financial Ratio)

ขั้นตอนนี้จะเป็นการสรุปข้อมูลจากงบการเงินของกิจการให้อยู่ในรูปอัตราส่วนทางการเงินเพื่อใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกิจการในปัจจุบันกับในอดีต รวมถึงใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับคู่แข่งหรือค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมได้ โดยทั่วไปอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดผลการดำเนินงานแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงเพียงพอของเงินทุน (Capital Adequacy) คุณภาพของสินทรัพย์ (Asset Quality) คุณภาพด้านการจัดการหรือการบริหาร (Management Quality) ความสามารถในการทำกำไรหรือ ความสามารถในการหารายได้ (Earnings) สภาพคล่อง (Liquidity) เป็นต้น นอกจากนี้อัตราส่วนทางการเงินยังสามารถนำมาใช้ในการคำนวณหาราคาหุ้นที่เหมาะสมได้ ที่เรียกว่าการประเมินมูลค่าหุ้นเชิงสัมพัทธ์ (Relative Valuation) ซึ่งอัตราส่วนที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ประเมินมูลค่าหุ้นกันอย่างแพร่หลาย คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) เป็นอัตราส่วนที่บ่งบอกว่าผู้ลงทุนยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อหุ้นเป็นจำนวนกี่เท่าของกำไรต่อหุ้นที่กิจการสามารถทำได้ โดยคำนวณได้จากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยอัตราส่วนราคาต่อกำไรของกิจการในอุตสาหกรรม แล้วนำมาคูณกับกำไรต่อหุ้นของกิจการ

ตัวอย่างเช่น กิจการ ABC ดำเนินธุรกิจแปรรูปอาหาร มีกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 12 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) ของอุตสาหกรรมอาหารเท่ากับ 7.5 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นที่เหมาะสมของกิจการ ABC มีค่าเท่ากับ 90 บาท แสดงได้ดังนี้

ราคาหุ้นที่เหมาะสมของบริษัท ABC = P/E Ratio ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม x EPS บริษัท ABC = 7.5 x 12 = 90 บาท

ขั้นตอนที่ 13

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discount Cash Flow Valuation)

เป็นวิธีการหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ภายใต้แนวคิดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นราคาที่สะท้อนกระแสเงินสดและผลตอบแทนที่กิจการจะสร้างให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต ซึ่งรูปแบบกระแสเงินสดที่ชัดเจนที่สุดคือ เงินปันผล เพราะเงินปันผลคือสิ่งที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับโดยตรงจากกิจการ ดังนั้นการประเมินมูลค่าจากแบบจำลองคิดลดเงินปันผล (Dividend Discount Model) จึงถือเป็นวิธีที่สอดคล้องกับความหมายการประเมินมูลค่ามากที่สุด โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องในการประเมินมูลค่าได้แก่ ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการหรืออัตราคิดลด และเงินปันผลที่กิจการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ตัวอย่างข้อมูลของกิจการ ABC แสดงการคำนวณอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ และการประเมินมูลค่าได้ดังนี้

อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ (K) = Rf + (Rm – Rf) x Beta
= 5% + (15% – 5%) x 0.5
= 10%

มูลค่าหุ้น ABC ตามแบบจำลองคิดลดเงินปันผล = D / (K – G)
= 3 / (0.1 – 0.05)
= 60 บาทต่อหุ้น

จากมูลค่าหุ้น ABC ที่ประเมินได้ 60 บาทต่อหุ้น ถ้าราคาหุ้น ABC ในปัจจุบัน เท่ากับ 70 บาทต่อหุ้น แสดงว่าราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Overvalue) จึงไม่ควรซื้อหุ้นนี้หรือ ถ้าถืออยู่ก็ควรจะขายออกไป ในทางตรงข้ามหากราคาปัจจุบันของหุ้นนี้เท่ากับ 50 บาทต่อหุ้น แสดงว่าราคาปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Undervalue) เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 14

การประเมินมูลค่าหุ้นเชิงสัมพัทธ์ (Relative Valuation)

เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่อ้างอิงมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ราคาหุ้นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับราคาหุ้นในปัจจุบัน โดยหลักการประเมินมูลค่าวิธีนี้คือการหามูลค่าจากตัวแปรที่อยู่ในรูปอัตราส่วนทางการเงิน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างตัวแปรมูลค่าตามบัญชีของหุ้น (Book Value) เนื่องจากเป็นตัวแปรที่สามารถหาได้ง่ายจากงบการเงินทั่วไป ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากงบการเงินบริษัท ABC แสดงส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 10 ล้านหุ้น ดังนั้นบริษัทจะมีมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 50 บาทต่อหุ้น (500/10 = 50) ขณะที่ค่าเฉลี่ย P/BV ของอุตสาหกรรมเท่ากับ 1.5 เท่า ดังนั้นราคาหุ้นที่เหมาะสมของกิจการเท่ากับ

= P/BV x BV

= 1.5 x 50

= 75 บาทต่อหุ้น

โดยสรุปการประเมินมูลค่าหุ้นทั้ง 2 วิธี มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน วิธีคิดลดกระแสเงินสดเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับความหมายของมูลค่ามากที่สุด เนื่องจากพิจารณาถึงกระแสเงินสดและการเติบโตของกิจการในอนาคต แต่ก็มีข้อเสียคือการไม่ได้อ้างอิงถึงราคาหุ้นในปัจจุบัน ขณะที่วิธีประเมินมูลค่าเชิงสัมพัทธ์มีข้อดีที่ราคาที่ประเมินได้สะท้อนราคาหุ้นในปัจจุบัน แต่ข้อเสียคือเป็นการเปรียบเทียบราคา ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถึงแนวโน้มและความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทในอนาคต

ทั้งนี้การจะเลือกใช้วิธีการใดนั้น จึงควรต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ว่าเหมาะกับวิธีการใดที่จะทำให้การประเมินมูลค่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก

classic.set.or.th

MENU
FINDS.,CO.LTD